ธรรมะคือคุณากร

ว่ากันว่าถ้าหมกมุ่นในเรื่องอะไรมากๆ เวลาพูด แสดงออก หรือคิดก็จะอยู่แต่ในเรื่องนั้นๆ ส่วนตัว นอกจากเรื่องงานแล้ว ก็ไม่ค่อยคิดเรื่องอื่นเท่าไรนัก(ยกเว้นเรื่องเที่ยวที่นานๆคิดที) ดังนั้น จึงพยายามอยากจะหมกมุ่นในเรื่องอะไรดี ในที่สุดจึงคิดได้ว่า ควรหมกมุ่นในเรื่องของธรรมะ เพราะธรรมะคือคุณากร บ่อเกิดแห่งความดี

วันนี้ขอนำเสนอธรรมขั้นพื้นฐานปุถุชนเช่นพวกเราๆ ก่อน ถ้าได้เรียนในระดับศึกษาธรรมชั้นตรี ธรรมะข้อนี้ก็จะอยู่ในหมวดต้นๆเลย นั่นคือ “ธรรมอันทำให้งาม ๒ อย่าง อันได้แก่ ขันติ ๑ โสรัจจะ ๑

ขันติ แปลว่า     ความอดทน เป็นลักษณะของผู้มีน้ำใจเข้มแข็ง หนักแน่น เป็นคุณสมบัติของผู้ปกครอง และเป็นมงคลเหตุแห่งความเจริญ ความอดทนยังแบ่งย่อยไปอีก  ๓ ประเภท คือ
๑. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ เช่น ทนหนาว ร้อน เป็นต้น
๒. อดทนต่อทุกขเวทนา เช่น เวลาเจ็บไข้ ป่วย เป็นต้น
๓. อดทนต่อความเจ็บใจ มี ๓ ประเภท

(๑) ตีติกขาขันติ    อดทนด้วยการกลั้นไว้ได้
(๒) ตปขันติ    อดทนจนเป็นตบะเดชะ
(๓) อธิวาสนขันติ อดทนจนยังคำพูดหยาบคาย ของผู้อื่นให้กลับอยู่เป็นเพื่อน เป็นมิตรกันได้
โสรัจจะ แปลว่า ความเสงี่ยม ได้แก่การรู้จักทำจิตใจให้แช่มชื่นเบิกบาน มีกายวาจา  สงบเสงี่ยมเรียบร้อย คือมีอาการปกติเยือกเย็น ภายใน ไม่แสดงอาการขึ้นลง เป็นต้น

จากธรรมะสองข้อนี้ ก็พอจะเห็นแล้วว่า ทำไมถึงได้ชื่อว่า เป็นธรรมะอันทำให้งาม ความงามในที่นี้มิได้หมายว่างามด้วยทรวดทรงองค์เอว ผิวพรรณผุดผุ่ง หรือหน้าตาสวยใส หากแต่หมายถึงความงามแห่งกิริยาท่าทางการแสดงออกในสังคมอย่างเหมาะสมตามกาละเทศะ ผู้ที่มีหน้าตาสวยใส หากแสดงกิริยากราดเกรี้ยวโมโหร้าย เพราะไม่อดทนต่อความพูดไม่ถูกหู ก็กลายเป็นคนขี้เหร่ขึ้นมาได้เช่นกัน

อดทนเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องมีความสงบเสงี่ยม ทำจิตใจให้แช่มชื่นเบิกบาน มิเพียงแต่แสดงออกภายนอกเท่านั้น แต่ต้องมีความแช่มชื่นที่ออกมาจากข้างใน สกัดกั้นอารมณ์ไม่พอใจเสียได้ แล้วดำรงสภาวะด้วยอาการอันปกติ

นโปเลียนนักรบผู้ยิ่งใหญ่ ข้าศึกขนาบเมืองทั้งหน้าหลัง ทหารรีบเข้าไปแจ้งข่าวด้วยความตื่นตะหนกตกใจสุดขีด จนแทบจะพูดออกมาไม่ถูก แต่พอนโปเลียนรับทราบว่า กลับกล่าวด้วยอาการปกติและบอกแก่นายทหารคนนั้นว่า จะขอเข้านอนสักงีบก่อน จึงค่อยคิดการแก้ไขสถานการณ์ นายทหารจากที่เคยตื่นเต้นตกใจเหลือประมาณ ก็เบาใจด้วยเข้าใจว่า นายของตนคงมีไม้เด็ดไว้กำจัดศัตรูแล้ว เมื่อทหารทุกคนมีกำลังใจอะไรๆก็เกิดขึ้นได้

ธรรมะอีก ๒ ข้อที่ได้ชื่อว่ามีอุปการะมาก นั่นคือ

๑. สติ แปลว่า ความระลึกได้

– สติ  มีความระลึกเป็นลักษณะ ระลึกเรื่อง อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต
– มีความไม่ลืมเลือนเป็นกิจ ไม่ลืมเรื่อง อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต
– มีการคอบคุมเป็นเครื่องปรากฏ ได้แก่ควบคุม การทำ-คำพูด-ความคิด
– สติ ทำหน้าที่ ก่อนทำ  ก่อนพูด  ก่อนคิด

๒. สัมปชัญญะ แปลว่า ความรู้ตัว

– สัมปชัญญะ   มีความไม่ฟั่นเฟือนเป็นลักษณะ คือ การรู้ตัวทุกอิริยาบท
– มีความไตรตรองเป็นกิจ คือการพิจารณาเห็นคุณ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์
– มีความเลือกเฟ้นเป็นเครื่องปรากฏ คือ ละสิ่งที่เป็นโทษ ประพฤติสิ่งที่ประโยชน์
– สัมปชัญญะ ทำหน้าที่ ขณะทำ  ขณะพูด  ขณะคิด

สติ-สัมปชัญญะ ชื่อว่า มีอุปการะมาก  เพราะเป็นอุปการธรรมอุดหนุนให้สำเร็จกิจทุกอย่าง การทำงานที่ไร้สติสัมปชัญญะ จากงานเล็กๆน้อยๆ อาจกลายเป็นงานใหญ่ที่ไร้คุณภาพ สติและสัมปชัญญะต้องทำงานคู่กัน สติทำหน้าที่ก่อนทำ-พูด-คิด ส่วนสัมปชัญญะทำหน้าที่ขณะทำ-พูด-คิด ดังนั้นทั้งสอง จึงแยกจากกันไม่ได้

วันนี้ขอน้อมนำธรรมทั้ง ๒ หมวด ๔ ข้อนี้มาไว้ในกระหม่อมเท่านี้ก่อน
พรุ่งนี้ค่อยมาว่ากันใหม่

~ ขออนุโมทนาธรรมครับ