ธรรมะเสวนา #๒

เช้าวันอาทิตย์แบบนี้ เข้าห้องเรียนธรรมะกันสักหน่อยท่าจะดี (ท่าจะดี มาจาก ท่าทางจะดี ไม่ใช่ ถ้าจะดี (เห็นหลายคนใช้ผิด))

ครั้งที่แล้วเราเรียนกัันในหมวด ๒ วันนี้จะพากระโดดไปหมวด ๔ เลย ใช่ว่าหมวด ๓ จะไม่มีธรรมะสำคัญ แต่เห็นว่าหมวด ๔ มีธรรมะน่าสนใจหลายอย่างที่คนทั่วๆไปมักไม่ค่อยรู้จัก ธรรมะ หากอ่าน พูด คิดบ่อยๆ จะทำให้ซึมเข้าในกมลสันดานได้ จิตใจเราจะได้ห่างจากอกุลมูล ๓ (โลภะ โทสะและโฆหะ) จะให้ไม่มีเลยเป็นไปไม่ได้ ได้แต่หวังให้น้อยลงเท่านั้น

หมวด ๔ ธรรมะที่หลายคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว และได้พูดถึงกันบ่อยๆ คือ อิทธิบาท ๔ สูตรแห่งความสำเร็จ (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา) หรือ พรหมวิหาร ๔ (เมตตา กรุณา มิทิตา อุเบกขา) วันนี้เลยขอแนะนำธรรมะเพื่อนำไปสู่ความหมดจดจากบาป ทำตัวให้มีความบริสุทธิ์จากอกุศล  นั่นคือ ปธาน ๔

ปธาน คือความเพียร ๔ อย่าง
๑.  สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน
๒.  ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
๓.  ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน
๔.  อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม
ความเพียร ๔ อย่างนี้ เป็นความเพียรชอบควรประกอบให้มีในตน

ผู้ที่พิจารณาตัวเองอยู่เนืองๆ จะเห็นความผิดพลาดของตัวเอง และพยายามที่จะระวังไม่ให้ตัวเองมีความผิดพลาดเช่นนั้นอีก การระวังบาปก็ดี ละบาปก็ดี บำเพ็ญกุศลก็ดี รักษาความดีก็ดี มิใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ต้องใช้ความเพียรพยายาม  สิ่งเหล่านี้หากปล่อยให้เป็นไปตามอารมณ์จนเกิดความเคยชิน  จะยากที่จะแก้ไขในภายหลัง ดังนั้น ความเพียร ๔ อย่างนี้..ต้องทำครับ

นอกจากนี้แล้ว ธรรมอีก ๔ ข้อที่เราควรหมั่นพิจารณา นั่นคือ อธิษฐานธรรม ๔

อธิษฐานธรรม คือธรรมที่ความตั้งไว้ในใจ ๔ อย่าง
๑.  ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้
๒.  สัจจะ ความจริงใจ คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง
๓.  จาคะ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ
๔.  อุปสมะ สงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ

เป็นมนุษย์สุดประเสริฐกว่าสัตว์ก็ตรงที่มนุษย์มีคุณธรรม ลองพิจารณาตัวเองดูบ้างมั้ย ว่าเรามีคุณธรรมอะไรในตัวบ้างที่ทำให้เราสูงกว่าสัตว์ !!

ความอธิษฐานธรรม คือ ธรรมที่ควรตั้งไว้ใจ พิจารณาจากตัวเราก่อน การใช้ชีวิตของเราดำเนินด้วย ปัญญาหรือไม่ มีครั้งไหนมั้ยที่เราตัดสินหรือทำอะไรโดยขาดการไตร่ตรองด้วยปัญญา หรือไตร่ตรองด้วยปัญญาแล้ว แต่ผลยังไม่ดีพอ แสดงว่าปัญญาไม่ดี ไม่ดีเพราะขาดอะไร ขาดสติ ขาดสมาธิ จนขาดปัญญา

ไม่เป็นคนไร้สัจจะ พูดสิ่งใด หรือตั้งใจอย่างใด ก็ไม่เคยทำได้อย่างนั้น (อยากให้นักการเมืองไทยมีธรรมะข้อนี้เยอะๆ)

พื้นฐานของคนย่อมประกอบด้วยความเห็นแก่ตัว การจะทำให้ความเห็นแก่ตัวหมด หรือน้อยลง ก็ด้วยการรู้จักสละ ภาษาพระเรียกว่า จาคะ การให้ หรือการแบ่งปัน นอกจากจะทำให้เรามีใจที่สูงขึ้นแล้ว ใจของผู้ให้ย่อมมีสุขกว่าผู้รับแน่นอน

นอกจากนี้ การฝึกตนด้วยการทำใจให้สงบหยุดนิ่งจากเรื่องทั้งปวง ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ  การออกกำลังกายควรทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ฉันใด ก็ทำใจให้สงบหยุดนิ่ง ก็ควรทำให้สม่ำเสมอ ฉันนั้น ใจแข็งแรง ย่อมมีผลให้กายมีพลัง  หากมีใจน้อมเอียงไปในการปฏิบัติธรรม ขอแนะนำธรรมะอีก ๔ ข้อ เพื่อเป็นแนวทางแห่งการปฏิบัติเรียกว่า สติปัฏฐาน ๔
๑.  กายานุปัสสนา   ๒.  เวทนานุปัสสนา
๓.  จิตตานุปัสสนา   ๔.  ธัมมานุปัสสนา
สติกำหนดพิจารณากายเป็นอารมณ์ว่า กายนี้ก็สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียก กายานุปัสสนา

สติ กำหนดพิจารณาเวทนา คือ สุข ทุกข์ และไม่ทุกข์ไม่สุขเป็นอารมณ์ว่า เวทนานี้ก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียก เวทนานุปัสสนา

สติกำหนดพิจารณาใจที่เศร้าหมอง หรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ว่า ใจนี้สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียก จิตตานุปัสสนา

สติกำหนดพิจารณาธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล ที่บังเกิดกับใจเป็นอารมณ์ว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียก ธัมมานุปัสสนา

สติปัฏฐานนี้ค่อนข้างลึกซึ้งครับ ต้องศึกษาและผู้ปฏิบัติอย่างจริงจังเท่านั้น ถึงจะเข้าใจแจ่มแจ้งได้ และหากมีใจใฝ่ในทางปฏิบัติจริงๆ ก็คงต้องเข้าหาอาจารย์สอนกรรมฐานและปฏิบัติอย่างจริงจัง

ว่ากันว่า ความสุขจากการปฏิบัติธรรมสูงล้ำกว่าสุขใดๆ

“นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นจากความสงบไม่มี”