สังคหเฮติ

ประเทศที่คนไม่ค่อยรู้จักอย่าง เฮติ ก็กลายเป็นประเทศที่ทั่วโลกกล่าวถึงและระดมความช่วยเหลือเข้าอย่างเต็มที่  เพราะเมื่อ วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553 เวลาท้องถิ่น 16:53:09 (หรือตรงกับเช้าวันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ.2553 เวลา 04.53 นาฬิกา ตามเวลาประเทศไทย) ได้เกิดแผ่นดินไหวใน เฮติที่มีความรุนแรง 7.0 ตามมาตราริกเตอร์ โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวห่างจากกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของประเทศไปราว 25 กิโลเมตร (หรือ 16 ไมล์) ซึ่งนับเป็นเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 200 ปี

เฮติ (Haiti) หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐเฮติ (Republic of Haiti) เป็นประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกาเหนือ ตั้งอยู่บนเกาะฮิสปันโยลาในทะเลแคริบเบียน โดยมีเกาะเล็ก ๆ ใกล้เคียงด้วย คือ ลาโกนาฟว์ (La Gonâve) ลาตอร์ตู (La Tortue) เลกาเยอมีต (Les Cayemites) อีลาวาช (Île à Vache) ลากรองด์เก (La Grande Caye) และนาวาส (Navasse) โดยประเทศเฮติแบ่งครึ่งเกาะฮิสแปนิโอลากับสาธารณรัฐโดมินิกัน มีพื้นที่ 10,714 ตารางไมล์ (27,750 ตารางกิโลเมตร) มีเมืองหลวงคือกรุงปอร์โตแปรงซ์ (ข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org)

ประเทศไทยเราเอง ในส่วนรัฐบาล และหลายหน่วยงานก็เร่งระดมช่วยเหลือด้วยการบริจาคเงินไปช่วยเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากประเทศเฮติอยู่ไกล หากบริจาคเป็นสิ่งของอาจจำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก เพื่อการขนส่งสิ่งของเหล่านั้น ดังนั้น การบริจาคเป็นเงินจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด หากใครได้อ่านบล็อกของผม ก็อยากให้ร่วมอนุโมทนาด้วยกันด้วย เมื่อวานนี้ผมได้ร่วมบริจาคด้วยการโอนเงินไปสมทบทุนกับช่อง 3 จำนวน 500 บาท แม้เป็นเงินไม่มาก แต่หากหลายๆคนรวมกันเข้าก็กลายเป็นเงินจำนวนมหาศาลได้เช่นกัน

การร่วมอนุโมทนาเมื่อมีผู้ทำบุญ เราเรียกว่าอนุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา ขอเพียงเรากล่าวสาธุ และชื่นชมยินดีในการทำบุญของผู้อื่น บุญก็จะสำเร็จแก่เราด้วยเช่นกัน

คนไทยเรามีนิสัยที่น่ารักอีกอย่างหนึ่งคือ ชอบช่วยเหลือ ขี้สงสาร เมื่อเห็นผู้อื่นตกทุกข์ได้ยาก จากนิสัยข้อนี้เอง จึงทำให้คนเลวได้ช่อง หลอกลวงด้วยวิธีการต่างๆ  หลายคนอาจเคยโดนหลอก(ผมก็เคย สูญเงินไป 600 บาท) บางทีจำนวนเงินที่ถูกหลอกไป เทียบไม่ได้กับความรู้สึกที่ถูกย่ำยี่

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือ การสงเคราะห์กัน ก็ยังเป็นนิสัยที่น่ารักของคนไทย แต่ก็ต้องพิจารณาอย่างถ้วนถี่หากจะช่วยเหลือ  ในทางพุทธศาสนาสนับสนุน สรรเสริญการช่วยเหลือและสังเคราะห์ เรียกว่า สังหควัตถุ

สังคหวัตถุ เป็นธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจคนให้อยู่รวมกันได้ด้วยความรักและสามัคคี พระพุทธองค์ทรงเปรียบสังคหวัตถุ ๔ ว่า เป็นเสมือนเพลา หรือสลักรถที่เชื่อมล้อทั้ง ๒ ด้านไว้จึงทำให้รถแล่นไปได้ ถ้ารถปราศจากเพลาหรือสลักเสียแล้ว ย่อมแล่นไปไม่ได้ฉันใด ถ้าโลกนี้ขาดสังคหวัตถุธรรมเสียแล้ว ความเคารพนับถือกันระหว่างบุคคล ย่อมไม่เกิดขึ้น ฉันนั้น เช่นบุตรธิดาก็ไม่มีความเคารพนับถือมารดา บิดา เป็นต้น

ข้อคิดเกี่ยวกับสังคหวัตถุธรรม
โดย เหตุที่โลกเรานี้มีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด คนทั่วไปจึงพยายามกอบโกยทรัพย์สมบัติเข้ามาไว้ในครอบครองให้มากที่สุดเท่า ที่จะมากได้ แม้จะต้องประพฤติทุจริต คนส่วนมากจึงเห็นแก่ตัว ไร้หิริโอตตัปปะ อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างชนิดที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา หาความเมตตากรุณาต่อกันได้ยาก คนที่ไม่สมปรารถนาในสิ่งที่ตนอยากได้ก็เป็นทุกข์ หรือได้น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็เป็นทุกข์ คนในสังกัดจึงต่างรู้สึกกว่าตนเองอยู่ในโลกของความขาดแคลนสารพัด

และ ความขาดแคลนมีทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม จากสังคหวัตถุธรรม ย่อมมีนัยว่า พระองค์ทรงประจักษ์ว่า ความขาดแคลนอย่างหนักหนาสาหัสของคนเรา มีอยู่ ๔ ประการด้วยกัน คือ

– ขาดแคลนทรัพย์สิ่งของ
– ขาดแคลนกำลังใจ
– ขาดแคลนความรู้ความสามารถในการแสวงหาสิ่งที่ตนอยากได้
– ขาดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ถ้าปล่อยให้คนในสังคมต่างหวาดผวาว่า ตนมีความทุกข์มีความขาดแคลนและขาดความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ การพัฒนาลักษณะนิสัยของคนดีตามวิธีการในทิศ ๖ อาจไม่ประสบผลสำเร็จ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงสังคหวัตถุ ๔ เพื่อเป็นบทฝึกพัฒนา ความมีเมตตากรุณาให้เกิดขึ้นในจิตใจของทุกคนก่อน โดยให้ต่างคนต่างตั้งใจสงเคราะห์ในสิ่งที่แต่ละฝ่ายขาดแคลาน คือ

๑. ทาน การให้ อาจเป็นการแบ่งปันสิ่งของซึ่งกันและกัน การแลกเปลี่ยนกันด้วยน้ำใจไมตรี การบริจาคสิ่งของให้ผู้ยากไร้ รวมทั้งการบริจาคทานให้แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ที่ยังชีพด้วยการบิณฑบาตตามพุทธ วินัย ผู้ที่ให้ทานสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย ย่อมมีควาเมตตากรุณาต่อผู้อื่นเสมอ

๒. ปิยวาจา การเจรจาไพเราะ ถ้อยคำมุสาวาททุกแบบนอกจากจะบั่นทอนกำลังใจกันแล้ว ยังก่อให้เกิดความอาฆาตพยาบาท และเป็นศัตรูกันอีกด้วยดังนั้นคนเราจึงจำเป็นต้องเจรจากันด้วยถ้อยคำไพเราะ ผู้ที่เจรจาไพเราะได้ ก็เพราะมีใจเมตตากรุณาเป็นพื้นฐานสำคัญ ขณะเดียวกันเจรจาไพเราะย่อมเป็นการให้กำลังใจกัน สร้างความรักสมัครสมานสามัคคีกัน ทำให้มิตรภาพระหว่างกันยืนยาวตลอดไป

๓. อัตถจริยา การประพฤติให้เป็นประโยชน์ เป็นการช่วยเหลืออนุเคราะห์ ฝ่ายที่ขาดแคลนความรู้ความสามารถในเรื่องต่างๆ ตามความเหมาะสม เป็นการพัฒนาความเมตตากรุณาและความรับผิดชอบต่อสังคมแบบหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนในสังคมสามารถมีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถลดปัญหาช่องว่างระหว่างชนชั้นได้มาก

๔. สมานนัตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลาย เป็นการแสดงความจริงใจต่อเพื่อนทุกๆ ทิศ เพื่อแสดงให้ผู้ที่คบหาสมาคมกับเรารู้สึกปลอดภัย ไม่ต้องหวาดระแวงว่า คนที่เป็นเพื่อนกันด้วยดีเสมอมา จะกลับกลายเป็นศัตรูมุ่งทำร้ายทำลายกันเมื่อใดก็ได้ เมื่อต่างฝ่ายต่างมีความจริงใจต่อกัน ย่อมอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสามัคคี รักใคร่กลมเกลียวกัน เมตตากรุณาต่อกัน ความรักสามัคคีกันระหว่างคนในสังคม ย่อมนำความมั่นคงปลอดภัย และความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ชาติบ้านเมือง

วันนี้ขอฝากข้อธรรมเรื่อง ‘สังคหวัตถุ’ ไว้ในอ้อมใจด้วยนะครับ

สาธุ ~

ที่มา  http://www.kalyanamitra.org