ไม้ม้วน ไม้มลาย

วันก่อนมีปัญหาถกกันในแผนก เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย

เพื่อนคนหนึ่งใช้ภาษาไทยคำว่า “ไว้” ใช้เป็น “ใว้” ตลอด (ไม้มลาย เป็นไม้ม้วน) และยืนยันว่าตัวเองถูก ผมจึงแนะนำไปว่า “ไม้ม้วนนะ มีแค่ 20 คำ ท่องผู้ใหญ่หาผ้าใหม่..ได้มั้ย ถ้าท่องได้ ท่องให้จบ นั่นคือไม้ม้วนทั้งหมดที่มีใช้ ถ้านอกเหนือจากนั้น ถือเป็นไม้มลาย”

มันก็อุตส่าทบทวน แล้วมาคัดค้านกับผมใหม่ว่า คำว่าไว้น่าจะเป็นไม้ม้วนนะ เพราะมันมีในบทผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ด้วย..

ผมก็ เฮ้ย..มันมีด้วยเหรอ ท่องมาแต่เด็ก ไม่ยักจะเคยได้ยิน ไหนลองว่าให้ฟังสิ

มันก็เริ่มเลยครับ..

“ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ใว้ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ..
นี่แหละๆๆ ตรงหาผ้าใหม่ใว้นี่แหละ เห็นมั้ยๆ มันมีจริงๆด้วย”

มันหน้ามึนมาก ท่องมาได้ ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ไว้ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ..
วันนี้ก็เลยหาหาบทดังกล่าวมาอ้างอิง เดี๋ยวนี้ใช้ผิดกันเยอะครับ ภาษาไทย เขียน/ใช้ให้ถูก จะได้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานอีกนานเท่านาน..

ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่  ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ
ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ  มิหลงใหลใครขอดู
จะใคร่ลงเรือใบ  ดูน้ำใสและปลาปู
สิ่งใดอยู่ในตู้  มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง
บ้าใบ้ถือใยบัว  หูตามัวมาใกล้เคียง
เล่าท่องอย่าละเลี่ยง  ยี่สิบม้วนจำจงดี

 

วันเดียวกัน อีกคนถามผมเกี่ยวกับภาษาไทย (อย่างกับผมเป็นอาจารย์ภาษาไทยอย่างนั้นแหละ ไม่ใช่นะครับ แต่ตอบได้เท่าที่รู้) ถามมาว่า “คำว่าสังเกตเนี่ย สระอุ ไว้ใต้ ต.เต่า หรือ ก.ไก่ ดี”

ใครรู้ช่วยตอบผมทีครับ

ถ้าถามว่า คำว่าสังเกต มีสระอุ หรือไม่มี ยังจะพอแก้ไขได้

ถามมาแบบนี้ อาการหนักครับ